ถ้าใครเกิดมาที่บ้านไม่เคยเลี้ยงสัตว์มาก่อน แล้วก็ทนความเย้ายวนและน่ารักของน้องแมวไม่ไหว บางทีก็สงสัยนะว่าทำไมทุกคนที่เลี้ยงแมวมักเรียกตัวเองว่าเป็น “ทาสแมว” อยู่บ่อยๆ หรือว่าการเลี้ยงแมวแล้วเรากลายเป็นทาสก็คงอารมณ์ประมาณว่าเราต้องเป็นคนคอยเอาอกเอาใจน้องแมวตลอดเวลาแน่ๆ เลย ซึ่งเราก็ยอมแพ้ความน่ารักของน้องแมวอยู่แล้วล่ะ
เราเองก็เคยมีประสบการณ์ก่อนตัดสินใจเลี้ยงน้องแมวเหมือนกัน ตอนนั้นก็คิดนานพอสมควรเลย เพราะอ่านในเน็ตหรือถามเพื่อนๆ ก็บอกว่าเลี้ยงแมวหรือเลี้ยงสัตว์นั้นไม่ได้ง่ายเพียงแค่ซื้อแมวที่ตัวเองต้องการแล้วก็ซื้อข้าวซื้อน้ำมาให้ คอยเล่นกับน้องตอนเราเหงาๆ เพียงแค่นั้น เราเลยศึกษาวิธีการเลี้ยงแมวที่ถูกต้องจากหลายๆ ที่ และเราก็ตัดสินใจเลี้ยงน้องจนได้ จึงอยากเอาประสบการณ์เรื่องนี้มาแชร์ให้ทุกคนฟังกัน รับรองว่าเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากเลี้ยงหรือเลี้ยงอยู่แล้วมากๆ เลยล่ะ
1. คิดก่อนตัดสินใจว่าทำไมถึงอยากเลี้ยงแมว
จงคิดให้รอบคอบว่าทำไมคุณถึงอยากเลี้ยงแมว ต้องเช็คตัวเองให้แน่ใจว่าอยากเลี้ยงเพราะรักในชีวิตสัตว์โลกจริงๆ อย่าใช้แค่ความรู้สึกเพียงผิวเผิน เช่น น้องน่ารัก หรือเห็นคนอื่นเลี้ยงก็อยากเลี้ยงบ้าง ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ขอบอกเลยว่าไม่เพียงพอเป็นอันขาด เพราะอย่าลืมว่าการเลี้ยงน้องก็เหมือนกับการมีลูกเลยก็ว่าได้ คิดให้ถี่ถ้วนก่อนว่ารับได้ไหมกับการสละส่วนหนึ่งของชีวิตให้กับน้อง ดูแลน้องยามป่วยไข้ จัดหาอาหารให้น้องได้อิ่มทุกมื้อ คอยทำความสะอาดเช็ดฉี่เช็ดอึน้องตลอดเวลา ถ้าคิดว่าตัวเองไม่อินหรือไม่มีความรู้สึกที่จะทำเรื่องแบบนี้ เราขอบอกเลยว่าอย่าพึ่งตัดสินใจเลี้ยงเป็นอันขาด
2. ศึกษาข้อมูลและตัดสินใจซื้อน้องจากแหล่งเพาะพันธุ์ที่เชื่อถือได้
ลองศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ต่างๆ ของน้องแมวดูบ้าง โดยเฉพาะพันธุ์ที่คุณต้องการเลี้ยงจริงๆ เพราะแต่ละสายพันธุ์จะมีจุดเด่นและอุปนิสัยแตกต่างกันไป เอาแค่บางพันธุ์ขนยาวกับขนสั้นก็มีวิธีการดูแลที่แตกต่างกันแล้ว และยังมีเรื่องราคาที่สายพันธุ์หายากหรือพันธุ์สวยงามก็จะมีราคาที่แตกต่างกันไป แหล่งเพาะพันธุ์ก็มีผลต่อคุณภาพของสายพันธุ์ซึ่งจะมีระบุอยู่ในใบเพดิกรี ที่ต้องตรวจสอบได้ น่าเชื่อถือ และจงอย่าหลงเชื่อแหล่งเพาะพันธุ์ที่ไม่สามารถให้ข้อมูลแหล่งที่มาอย่างละเอียดได้ หรือถ้าถูกเกินไปแล้วไม่รู้จักกันมาก่อนก็ไม่ควรซื้อ เพราะคุณอาจจะโชคร้ายได้น้องแมวที่มีโอกาสป่วยหนักจนเป็นภาระให้กับชีวิตคุณโดยไม่รู้ตัว
3. ดูแลน้องแมวด้วยวิธีการที่ถูกต้อง
เมื่อคุณได้สมาชิกในครอบครัวตัวใหม่เข้ามาแล้วก็ขอยินดีด้วยนะ ช่วงแรกๆ คงเปรียบได้กับคุณพึ่งมีลูกเกิดใหม่และไม่มีประสบการณ์มาก่อน ดังนั้นการดูแลน้องอย่างถูกวิธีจึงมีความสำคัญมาก ไล่ตั้งแต่ - อาหารน้องแมว ควรเป็นอาหารน้องที่น่าเชื่อถือและสอดคล้องกับงบประมาณที่มี เลือกอาหารตามอายุของน้องและสายพันธุ์ ถ้าไม่แน่ใจควรหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ยูทูป และสอบถามร้านอาหารสัตว์ให้เรียบร้อยก่อนตัดสินใจซื้อ - ทรายแมวเวลาน้องอึ บางคนคิดว่าใช้ทรายก่อสร้างก็พอแล้ว ซึ่งสามารถใช้ได้ก็จริง แต่ต้องระวังเวลาน้องขับถ่ายเพราะว่ากลิ่นฉี่อึของน้องจะแรงมาก ทรายก่อสร้างธรรมดามักเอาไม่อยู่และต้องทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา การใช้ทรายที่ออกแบบมาเฉพาะน้องแมวจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นและความถี่ในการทำความสะอาดอย่างมีนัยสำคัญ - การอาบน้ำ จริงอยู่ที่น้องแมวไม่ใช่สัตว์ที่สกปรกง่าย ตัวเหม็นเหมือนน้องหมา การอาบน้ำจึงไม่จำเป็นต้องทำบ่อยๆ อาจจะทำซัก 1-2 สัปดาห์ต่อครั้งก็เพราะ และแนะนำให้ใช้ครีมอาบน้ำคุณภาพสำหรับน้องแมวโดยเฉพาะ
4. ให้ความรักและดูแลเอาใจใส่น้องแมวราวกับลูกคนนึง
น้องแมวมักจะทำเหมือนกับเราเป็นทาส (ฮา) ดังนั้นเวลาน้องมาเล่นด้วย มาคลอเคลียร์ จงให้เวลากับน้องอย่างเต็มที่ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องเอาใจน้องเนี่ยอาจจะง่ายกว่าเลี้ยงน้องหมาด้วยซ้ำ เพราะน้องแมวจะเข้ามาเล่นกับคุณจนพอใจแล้วจากนั้นก็จากไป บางทีก็หายไปเป็นวันๆ แล้วก็กลับมาเลยก็มี ต่างจากน้องหมาที่เวลาคุณไม่มีเวลาให้ อารมณ์ของน้องจะแย่ลงและถึงขั้นกลายเป็นน้องที่ก้าวร้าว ดุร้าย เลยก็ได้ และจงหมั่นพาน้องไปตรวจสุขภาพกับคุณหมออยู่บ่อยๆ ป้องกันโรคร้ายแรงด้วยวัคซีนหรือยาสำหรับน้องแมว เพราะบางทีเราอาจไม่รู้ตัวเลยว่าน้องป่วยและต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล
5. รับมือกับความโศกเศร้าให้ได้
น้องแมวจะมีอายุเฉลี่ย 7-15 ปี ซึ่งสำหรับคนเลี้ยงสัตว์แล้ว ความสูญเสียย่อมเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้มันเกิด คุณต้องเตรียมใจที่จะเผชิญหน้ากับความสูญเสียไม่ว่าจะมาจากอายุขัยของน้อง โรคภัยไข้เจ็บร้ายแรงซึ่งบางโรคนั้นไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทำได้เพียงแค่ยื้อชีวิตน้องให้ยาวขึ้นเท่านั้น (ส่วนตัวเราเคยเลี้ยงน้องที่เป็นโรคมะเร็งร้ายแรง) หรือแม้กระทั่งอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ที่พูดเพราะไม่อยากให้หลายๆ คนที่ไม่เตรียมใจในเรื่องนี้ต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสียจนรับไม่ได้ กลายเป็นโรคซึมเศร้าในระยะเวลานานๆ อย่างน้อยสิ่งที่ดีที่สุดที่ได้เรียนรู้จากเรื่องนี้คือการปล่อยวาง
Comments